QR Code

ต้นเต็งหรือ ต้นจิก

รหัสพันธุ์ไม้ 8-6310204-05-004

ชื่อภาษาอังกฤษ  Burma Sal, Siamese Sal, Thitya

ชื่อวิทยาศาสตร์  Shorea obtusa Wall. ex Blume

ชื่อวงศ์   DIPTEROCARPACEAE

ไม้เต็งจัดเป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับไม้ยางนา และไม้เต็ง มีชื่อเรียกเป็นภาษาอีสานว่า “ไม้จิก” และมีชื่อสามัญเรียกว่า Burmese sal หรือ Siamese sal คำว่า Burmese หมายถึง เมียนมา ส่วนคำว่า  Siamese  หมายถึงประเทศสยามหรือประเทศไทยของเรานั่นเอง เนื่องจากต้นเต็งพืชชนิดนี้พบที่ประเทศพม่าและประเทศไทยเป็นครั้งแรก จึงถูกตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบ ส่วนคำว่า sal  นั้นเป็นการใช้กับชื่อของต้นไม้ของคนสมัยก่อน จริงๆ แล้วคำนี้ ก็คือ  salt หรือ sal หมายถึง เกลือ ดังนั้น การใช้  sal กับชื่อต้นไม้ของคนในสมัยก่อน เพราะว่าไม้ชนิดนี้ เมื่อนำไปเผาแล้วจะได้ถ่านที่มีสีขาวคล้ายกับเกลือนั่นเอง

ลักษณะทางพฤกศาสตร์ต้นเต็ง

ต้น                                                            

ต้นเต็ง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง โดยเป็นต้นไม้ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ซึ่งมักจะคดงอไม่ค่อยตรงนัก โดยมีความสูงประมาณ 10-25 เมตร และมีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มกว้าง เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา ตกสะเก็ดหรือแตกเป็นร่อง โดยเปลือกของลำต้นด้านในจะเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง กระพี้มีสีน้ำตาลอ่อนและแก่นมีสีน้ำตาลเข้ม

ใบ

ใบของต้นเต็ง มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยจะออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบมีรูปขอบขนานหรือรูปทรงรี แกมรูปขอบขนานคล้ายรูปไข่ โคนใบมนหรือทู่ ส่วนปลายใบอาจมนหรือแหลม โดยใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาว 10-16 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อใบหนาผิวใบสาก โดยมีขนขึ้นอยู่ประปรายเส้นแขนงมีประมาณ 15-20 คู่ ก้านใบ ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบแก่จะมีสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง ซึ่งจะร่วงหล่นลงสู่พื้น

ดอก

ดอกของต้นเต็งรัง มีลักษณะการออกดอกเป็นช่อแยกแขนง ที่บริเวณปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ช่อของดอกจะมีขนนุ่ม โดยดอกมีขนาดเล็กสีขาวนวล กลีบดอกและกลีบรองดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองอ่อน กลิ่นหอมปลายกลีบแยกออกจากกัน ส่วนโคนกลีบดอกซ้อนทับกัน ที่บริเวณปลายกลีบจะจีบเวียนตามกันคล้ายกับรูปกังหัน ส่วนกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันนั้น แยกออกเป็น 5 แฉก เกสรตัวผู้มีขนาดเล็กและมีจำนวนมากประมาณ 20-25 อัน ซึ่งจะอยู่รอบเกสรตัวเมีย อับเรณูมีขนสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ในส่วนเกสรเพศเมียจะมีพู 3 พู ก้านดอกค่อนข้างสั้น ดอกของเต็งรังจะออกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

ผล

ผลของต้นเต็งรัง มีลักษณะเป็นรูปทรงไข่หรือรูปกลมรี โดยมีความกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลจะมีปีกสั้น 2 ปีก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตรและปีกยาวมี 3 ปีก ลักษณะคล้ายรูปหอกกลับ โดยมีขนาดความกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และยาว 4-6 เซนติเมตร ภายในผลประกอบด้วยเมล็ด 1 เมล็ด โดยผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

ประโยชน์ของต้นเต็ง

1. ไม้เต็ง มีเนื้อสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแก้มแดง ซึ่งเป็นสีสันที่สวยงามและมีความแข็งแรงทนทานดี จึง

สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ทำเสาบ้าน รอด ตรง คาน กระดาน พื้น  ฯลฯ นอกจากนั้นยังนิยมนำมาใช้ในการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม้เต็งมีสถานะเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. การลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกันผู้ที่มีต้นเต็งไว้ครอบครองก็จะต้องมีใบอนุญาตในการโค่นหรือตัด

2. ชันยางที่ได้จากต้นเต็ง สามารถใช้ผสมน้ำมัน ทาไม้ หรือใช้ยาแนวเรือ ตลอดจนใช้ยาแนวเครื่องใช้

ต่างๆ ได้

3. สามารถนำไม้เต็งไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ก่อไฟ หุงหาอาหาร โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองหรือผ่านการ

ทดสอบมาแล้วว่าเนื้อไม้เต็งนั้นสามารถให้พลังงานความร้อนที่สูง

สรรพคุณของต้นเต็ง

ต้นเต็งมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร โดยเปลือกของต้นสามารถใช้เป็นยาสมานแผล รักษาแผลเรื้อรัง แผลพุพองหรือห้ามเลือดได้ วิธีการ คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือเปลือกต้นมาฝนผสมกับน้ำปูนใส แล้วใช้สำลีชุบทาไปที่บริเวณแผล นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าหากใช้ต้นหรือเปลือกของต้นเต็งมาฝนกับน้ำปูนใสยังสามารถใช้เป็นยาฝาด สมานห้ามเลือด และแก้น้ำเหลืองเสียได้

วิธีการปลูก การขยายพันธุ์และการดูแลรักษาต้นเต็ง

สำหรับวิธีการปลูกหรือการขยายพันธุ์นั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด แต่จะนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ด้วยการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ เพื่อให้มีอัตราการรอดตายที่สูง อย่างไรก็ตาม ต้นเต็งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า หากต้องการนำเนื้อไม้มาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้าง อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการปลูกที่มากถึง 30-50 ปีเลยทีเดียว หลังจากที่เก็บเมล็ดแก่ ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้นเต็งแล้ว ให้ทำการตัดปีกออก โดยให้เหลือเพียงแค่เมล็ดไว้เท่านั้น เสร็จแล้วให้นำเมล็ดไปแช่น้ำทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งคืน หลังจากนั้นให้นำเมล็ดไปบ่มไว้ในถุงพลาสติก ปิดถุงพลาสติกให้แน่นทิ้งไว้ 5 วัน การบ่มเมล็ดของต้นเต็งจะต้องผสมขุยมะพร้าวลงไปในถุงพลาสติกด้วย หลังจากระยะเวลา 5 วันผ่านไป เมล็ดของต้นเต็งจะงอกรากหรือแทงรากออกมาให้เห็น โดยให้คัดเฉพาะเมล็ดที่มีรากยาวออกมามากที่สุด เพื่อนำไปเพาะในถุงเพาะชำต่อไป

ส่วนวิธีการเพาะชำลงถุงนั้น ให้นำในส่วนของรากลงไปใต้ผิวดิน ส่วนเมล็ดจะอยู่เหนือผิวดิน เพราะหากเมล็ดจมลงไปในดินจะทำให้เมล็ดเกิดการเน่าได้ หลังจากที่เพาะในถุงเพาะชำแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 เดือน ต้นเต็งก็จะเริ่มเจริญเติบโตขึ้น โดยมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หรืออาจมีใบที่งอกออกมาประมาณ 3-4 ใบ สามารถที่จะย้ายลงแปลงปลูกได้ในลำดับต่อไป

ต้นเต็งเป็นต้นไม้ที่สามารถทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี และสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ในดินทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นดินลูกรัง หรือดินที่มีความแห้งแล้ง แต่ข้อเสียก็คือ อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ได้ ในปัจจุบันต้นเต็งสำหรับในประเทศไทยของเรากำลังจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด เนื่องจากถูกบุกรุกลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และหาชมได้ยากมาก โดยทั่วไปแล้วจะปลุกให้เห็นตามปั๊มน้ำมันหรือสถานที่ราชการต่างๆ เท่านั้น หรืออาจพบได้บางส่วน ตามหัวไร่ ปลายนาต่างๆ ซึ่งหากพื้นที่ไร่สวนของใครมีต้นเต็งที่กำลังเจริญเติบโตก็อาจจะต้องดูแลรักษาให้ดี เพราะอย่างที่บอกว่าต้นเต็งในปัจจุบันนั้น กำลังจะสูญพันธุ์ไป และสามารถหาชมได้ค่อนข้างยากมาก ทำให้ต้นเต็งกลายเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีราคาสูงเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน

ค้นจากเว็บไซด์ ค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 https://kaset.today/%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b9%8c%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89/%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%b2/

อ้างใน   https://biodiversity.forest.go.th

จัดทำโดย  งานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565